‘On Writing A Memoir of the Craft’
ชีวิตและเรื่องขีดเขียนของ สตีเฟ่น คิง
นรา สุภัคโรจน์ :แปล
Merry-Go-Round Publishing
—-
1
ได้ยินชื่อเสียงมานานแล้วกับหนังสือเกี่ยวกับการเขียนของสตีเฟ่น คิง เล่มนี้ เล่มก่อนหน้าที่พิมพ์หายาก (สนพ มติชน) ตอนนี้มีมาใหม่เลยจัดมา เปิดอ่านไปสามสี่หน้า ปรากฏว่าหยุดไม่ได้
2
คล้ายกับหนังสือที่เกี่ยวกับการเขียนของนักเขียนดังเล่มอื่น (เช่นมูราคามิ) คือไม่ใช่ตำราว่าด้วยการเขียน แต่มันคือชีวิตของนักเขียนคนนั้น เรื่องราวพื้นหลัง ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ประกอบสร้างมาเป็นนักเขียนท่านนั้น ๆ
3
เล่มนี้ถูกแบ่งออกเป็น 6 บท คือ
>คำนำผู้เขียน
>ประวัติโดยสังเขป
>การเขียนคือ
>กล่องเครื่องมือ
>ว่าด้วยการเขียน
>ว่าด้วยชีวิต :ปัจฉิมลิขิต
ส่วนของคำนำก็เป็นกล่าวถึงที่มาว่าทำไมถึงอยากเขียนเล่มนี้
4
บทต่อมา
>ประวัติโดยสังเขป นั้น
เป็นการเล่าเรื่องความเป็นมาของชีวิตของคิง ครอบครัว นิสัยใจคอ การเลี้ยงดู ผู้คนรอบข้าง ต่าง ๆ เหล่านี้ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาของหนังสือกึ่งอัตชีวประวัติ
แต่คิงก็คือคิง
ในนิยายของเขา การปูพื้นตัวละครนั้นเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งจุดเด่นอย่างหนึ่งของนิยายคิงนั่นคือความลึกและเหมือนจริงของตัวละคร ซึ่งในบทสองนี้ทำให้เราเข้าถึงความเป็นคิง และไม่แปลกใจที่ในบทต่อ ๆ มาเราจะได้เห็นการจิกกัดของเขา ตลกร้าย เสียดสีต่าง ๆ นั้นมีที่มา
ความกวนตีนที่เขาได้รับจากการถูกเลี้ยงมาจากพี่เลี้ยงคนหนึ่ง รวมถึงแม่เขาก็กวนใช่ย่อย
ดังนั้นนอกเหนือจากการสอนการคราฟท์นิยายสไตล์คิงแล้ว หนังสือเล่มนี่ก็ใช้เทคนิคการเขียนนิยายของเขาออกมาด้วย จึงทำให้ขับเน้นสิ่งที่เขาเขียนออกมาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
5
>การเขียนคือ
บทนี้เป็นบทสั้นที่สุด เสมือนการเกริ่นเกี่ยวกับการเขียน (ในแบบของเขา) สตีเฟ่นนิยามการเขียนคือ ‘โทรจิต’ การส่งกระเเสความคิดผ่านตัวอักษร ผ่านพื้นที่จากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง ผ่านสังคม เชื้อชาติ รวมถึงข้ามวันเวลา
คิงยกตัวอย่างคือ เมื่อนักเขียนเขียนถึงโต๊ะที่คลุมด้วยผ้าสีแดง สารนั้นจะลงสู่กระดาษ และเมื่อใครก็ตามมาอ่านไม่ว่าที่ไหน เมื่อไหร่ ผู้อ่านจะเห็นภาพโต๊ะที่ถูกคลุมด้วยผ้าสีแดงเช่นกัน (ตัวอย่างในเล่มสนุกและจิกกัดกว่านี้ ที่ผมยกมาแค่ต้องการอธิบาย)
6
>กล่องเครื่องมือ
บทนี้คิงเล่าถึงสิ่งสำคัญในการเขียนหลาย ๆ อย่างที่จำเป็นในการเขียน สิ่งเหล่านี้ควรถูกจัดไว้และเปรียบเทียบเป็น ‘กล่องเครื่องมือ’ ที่ถูกแบ่งเป็นชั้น ๆ อันไหนใช้บ่อยเอาไว้บนสุด และจำแนกสิ่งสำคัญต่าง ๆ เป็นข้อ ๆ ให้ผู้อ่าน หรือนักอยากเขียนทราบ
เช่น คำศัพท์ ไวยากรณ์ วลี Active/Passive Voice คำวิเศษต่าง ๆ รวมถึงการค้นหาสไตล์การเขียนและการนำสิ่งต่าง ๆ มาใช้ด้วย
7
>ว่าด้วยการเขียน
บทนี้น่าจะเป็นแก่นแกนสำคัญที่นักอ่านอยากทราบ เพราะมันเกี่ยวกับเคล็ดลับการเขียนของคิงโดยตรง
โดยสิ่งแรกที่คิงแนะนำคือการอ่าน อ่าน และอ่านอย่างบ้าคลั่ง (คล้ายกับนักเขียนทุกคนบนโลกแนะนำ)
ในหนังสือ ‘เขียนไปสุดฝัน’ ของคุณวินทร์พูดถึงการอ่านว่า ควรอ่านหนังสือที่ทำให้เราดีขึ้นฉลาดขึ้นถ้าหนังสือไม่ดีก็หยุด ไปหาเล่มอื่น เวลาเราน้อย
แต่ในเล่มนี่ คิงบอกว่าถ้าเจอหนังสือที่เราอ่านแล้วรู้สึกว่าห่วยชิบหาย ก็ให้อ่าน เพราะหนังสือเหล่านี้เป็นแรงขับให้เราเขียนได้ดี เพราะเราจะคิดว่า ‘แบบนี้กูก็เขียนได้’
ต่อมาคิงบอกว่าให้เริ่มเขียน ไม่มีทางลัดอื่น แม้แต่การอ่านหนังสือเล่มนี้จบพันรอบก็ไม่ได้ทำให้เขียนดีขึ้นถ้าคุณไม่เขียน
การเริ่มเขียนก็ให้เขียนในสิ่งที่ชอบ ลอกสไตล์ที่คุณอยากเขียน ไม่แปลกที่เราจะได้รับอิทธิพลจากนักเขียนที่เราชอบ แต่หากเราเขียนนานพอเราจะมีสไตล์ของเราเองจนได้
นอกจากนี้ คิงยังเล่าถึงความสำคัญของพล็อต (ซึ่งหักมุมจากที่คุณคิดแน่นอน) ต่อด้วยการสร้างตัวละคร การใช้คำ การบรรยาย การกำหนด ธีม การทบทวน รีไรต์ อีดิตต่าง ๆ รวมหลักการต่าง ๆ ที่น่าสนใจในการเขียน รวมถึงสูตร ร่างที่ 2=ร่างที่1-10%
ซึ่งมีประโยชน์มาก ๆ ถ้าคุณอยากเขียนนิยายหรือเรื่องสั้น
8
>ว่าด้วยชีวิต : ปัจฉิมบท
บทนี้ว่าด้วยการใช้ชีวิต เมื่อคิงเองเฉียดเข้าใกล้ความตาย เหมือนเป็นการบอกผู้อ่านว่าไม่ว่าอย่างไรเราก็มีสิ่งที่ต้องทำ และสักวันเราต้อวตาย การที่ได้เลือกทำในสิ่งที่ตนเองรักเป็นเรื่องที่สร้างความสุข
การเขียนสำหรับเขาคือความสุขของชีวิต และเขาดีใจที่ได้สร้างสรรค์ผลงาน
รวมถึงครอบครัว ภรรยาที่อยู่ข้างการเขามาตลอด
9
สรุปสุดท้าย หนังสือเล่มนี้เป็นการบอกแนวทางการเขียนสไตล์สตีเฟ่น คิง ไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดีกว่าของคุณวินทร์ ของมูราคามิ ของคุณอุทิศ หรือของนักเขียนท่านอื่น เพราะทุกคนมีแนวทางของตัวเอง เป็นหนังสือที่น่าจะส่งเสริมทักษะการเขียน ปลุกไฟและผลักดันให้คุณสร้างสรรค์งานออกมา
ผม้ป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยอ่านงานของคิงมาก่อน เมื่ออ่านเล่มนี้จบ ก็ทำให้ต้องหานิยายของเขามาอ่าน
และหลังจากได้อ่าน Shawshank Redemtion ก็พบว่าเข้าใจเทคนิคที่เขาเขียนใน On Writing ได้ดีขึ้น การกระทำของตัวละคร พล็อต ธีม รวมถึงอ่านนิยายสนุกมากขึ้นด้วย
ก็ขอแนะนำทั้งนักเขียนและนักอ่านกับเล่มนี้ เชื่อว่าจะทำให้มุมมองการอ่านและการเขียรของทุกคนเปลี่ยนไป
ไม่มากก็น้อย
—-
#Bookster